รู้กันหรือยัง? วิธีใช้ ตลับเมตร อย่างมืออาชีพ
แม้ว่า ตลับเมตร จะเป็นเครื่องมือวัดทั่วไปที่ใช้งานง่าย สะดวก รวดเร็ว แต่ก็ยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่รู้วิธีการใช้งานอย่างเชี่ยวชาญ บทความนี้จึงได้รวบรวมวิธีการใช้งานตลับเมตรอย่างมืออาชีพมาให้ทุกคนได้เรียนรู้เพิ่มเติม จะได้ใช้งานเครื่องมือวัดได้อย่างถูกต้องและแม่นยำมากขึ้น
การใช้งาน ตลับเมตร
ตลับเมตร เป็นเครื่องมือวัดที่อเนกประสงค์มากๆ สามารถใช้กับงานต่างๆ ได้จริง วัดได้ทั้งภายนอกและภายใน เช่น วัดความยาวระหว่างจุด A และจุด B แล้ว วัดความกว้างภายในของชั้นวางหนังสือ เป็นต้น
ตะขอเกี่ยวของ ตลับเมตร
นัก DIY จำนวนมาก หรือแม้แต่ช่างไม้มืออาชีพที่มีประสบการณ์บางคนอาจไม่รู้ว่าตะขอหรือ Hook ของ ตลับเมตร นั้นต้องขยับเข้าออกได้เล็กน้อย เพื่อชดเชยความหนาของตะขอที่อาจทำให้การวัดคลาดเคลื่อนได้ ซึ่งไม่ใช่ข้อผิดพลาดระหว่างการผลิตแต่อย่างใด ตลับเมตร ที่เชื่อถือได้จะต้องมีลักษณะนี้
องค์ประกอบของ ตลับเมตร
ตลับ : เป็นที่เก็บแถบวัด ขนาดที่ใหญ่ไม่ได้แปลว่า ตลับเมตร นั้นจะมีความยาวมากเสมอไป เพราะขึ้นอยู่กับวัสดุที่ใช้ผลิต หากเป็นพลาสติกก็อาจหนาพอประมาณ เพื่อความแข็งแรงทนทาน ในขณะที่วัสดุประเภทโลหะอาจให้รูปลักษณ์ที่เล็กกว่า หรืออาจจะมีน้ำหนักค่อนข้างมากกว่าวัสดุประเภทอื่นๆ
ตะขอ : ภาษาอังกฤษจะเรียกหลายอย่าง ทั้ง Hook, Tang, Clip มีไว้เพื่อใช้เกาะหรือเกี่ยวกับวัตถุต่างๆ เช่น ขอบสิ่งของ ตะปู สกรู ทำให้สะดวกต่อการวัดภายนอก แต่เมื่อใช้วัดภายใน ตะขอจะรวมอยู่ในความยาวของ ตลับเมตร ด้วย
ล็อค : คือ ปุ่มที่อยู่ด้านหน้าของตลับ ใช้กดลงเพื่อล็อคแถบวัดให้อยู่กับที่ในความยาวที่ต้องการ ป้องกันไม่ให้แถบวัดถูกกรอกลับ
แถบวัด : มีสเกลเล็กๆ มากมาย ใช้งานโดยการดึงยืดไปตามระยะที่ต้องการวัด แล้วอ่านตัวเลขและสัญลักษณ์บนแถบวัด สำหรับ ตลับเมตร ที่มีหน่วยวัด 2 แบบ หน่วยวัดแบบนิ้วจะอยู่ด้านบน ส่วนหน่วยวัดแบบเซนติเมตรจะอยู่ด้านล่าง
วิธีการอ่านค่าของ ตลับเมตร (หน่วยนิ้ว)
▶ 1 ฟุต (1 ’) = 12 นิ้ว จะแสดงเป็น 1F บนแถบวัด อาจจะมีแถบสีดำหรือแถบสามเหลี่ยมคล้ายลูกสรที่ตัวอักษร เพื่อให้ดูง่าย สังเกตง่าย โดยจะมีให้เห็นทุกๆ 1 ฟุต เช่น 1F , 2F , 3F
▶ นิ้ว (in / inch) : เส้นแนวตั้งหรือขีดที่ยาวที่สุดจะระบุด้วยตัวเลขอยู่ทางด้านซ้ายของเส้นเพื่อบอกระยะ ตัวอย่างเช่น 1=1”, 2=2”, 3=3”
▶ หุน : ขีดที่ยาวรองลงจากนิ้วจะอ่านเป็นหุน เช่น ระยะครึ่งนิ้ว หรือ 4 หุน โดยปกติ ระหว่างระยะแต่ละนิ้วจะมีขีดเล็กๆ 8 ขีด ซึ่ง 1 ขีดจะเท่ากับ 1 หุน หรือ ⅛ นิ้ว นั่นเอง (แต่ตลับเมตรขนาดใหญ่จะมี 16 ขีด) โดยที่ 8 หุน = 1 นิ้ว
วิธีการอ่านค่าของ ตลับเมตร (หน่วยเซนติเมตร)
▶ ทุกๆ 1 เซนติเมตร จะระบุเลขไว้ที่ด้านซ้ายของขีดที่ยาวที่สุด เลข 1 = 1 เซนติเมตร (cm) ขีดที่เล็กกว่าจะเป็นหน่วย มิลลิเมตร (mm) ดังนั้น 1 ขีด = 1 mm
▶ 1 เมตร (m) = 100 เซนติเมตร (cm) โดยที่ ตลับเมตร บางอันจะระบุว่า “1m” ไว้ บางอันก็ไม่ระบุ ผู้ใช้ต้องรู้เอง
▶ ทุกๆ 10 เซนติเมตร ตัวเลขจะเด่นกว่าเลขอื่นๆ เช่น มีสีแดงและใหญ่กว่า สามารถอ่านเป็นเดซิเมตร (dm) ได้ด้วย ตัวอย่างเช่น 10 cm = 1 dm, 20 cm = 2 dm, 30 cm = 3 dm
ประโยชน์พิเศษบนแถบวัดของ ตลับเมตร
– ทำโครงคร่าว (Wall Stud) สะดวกขึ้น
ทุกๆ 16 นิ้วจะมีกรอบสี่เหลี่ยมสีแดงบนเลข ใช้เพื่อบอกระยะห่างของโครงคร่าว (บ้างก็เรียกว่าโครงเคร่า) ในแนวตั้งที่เหมาะสม ช่วยให้ทำงานง่ายและรวดเร็วขึ้น
– วางพื้นคานและตง (Joist) ได้ง่ายขึ้น
ทุกระยะ 19 เศษ 3/16 นิ้ว จะมีสัญลักษณ์ข้าวหลามตัด ◆ หรือ diamond กำกับไว้เสมอ ซึ่งเป็นระยะห่างของ Joist ที่เหมาะสม ช่วยให้ระบุตำแหน่งของตงได้อย่างรวดเร็ว โดยที่ไม่ต้องใช้ตัวค้นหาแกน เป็นประโยชน์มากเมื่อจะต้องตอกหมุดต่างๆ ให้ตรงกับคานที่วางไว้
เทคนิควิธีใช้ ตลับเมตร แบบมืออาชีพ
⭗ ใช้ ตลับเมตร วัดภายนอกของวัตถุอย่างถูกวิธี
สำหรับการวัดภายนอก ให้ดึงแถบวัดออกจากตลับ แล้วเกี่ยวตะขอเข้ากับขอบของวัตถุที่จะวัด ยืดจนความยาวครอบคลุมแล้วกดล็อก จากนั้นสังเกตขีดที่ใกล้ขอบวัตถุที่สุดบนแถบวัด นั่นคือความยาวที่วัดได้
⭗ การอ่าน ตลับเมตร ต้องปัดเลขขึ้นเสมอ
ในกรณีที่วัดแล้วขอบวัตถุอยู่ระหว่างขีด 2 ขีดบนสเกล ให้นับสเกลที่มากกว่า เพื่อหลีกเลี่ยงการตัดส่วนที่จะประกอบหรือชิ้นงานสั้นเกินไป เพราะไม่อย่างนั้น อาจต้องแก้ชิ้นงานอื่นๆ หรือต้องตัดใหม่ทั้งหมด ทำให้เสียวัสดุและเวลาทำงานเพิ่มขึ้น
⭗ ร่องเล็กๆ ที่ตะขอของ ตลับเมตร มีไว้เพื่อทำเครื่องหมาย
ร่องเล็กๆ ที่ตะขอเกี่ยวพอดีกับปลายปากกาหรือดินสอ ช่วยให้ทำเครื่องหมายมาร์กจุดที่ต้องการได้อย่างแม่นยำ หากไม่มีดินสอหรือปากกาอยู่ในมือ ก็สามารถใช้ปลายตะขอถูไปมาให้เกิดรอยจากๆ ได้ (เฉพาะวัสดุบางชนิด)
⭗ สามารถใช้ ตลับเมตร คนเดียวโดยไม่มีผู้ช่วยได้
ที่ปลายตะขอเกี่ยวยังมีรูเล็กๆ ยาวๆ เหนือร่องสำหรับดินสอด้วย มันออกแบบมาเพื่อใช้ยึดกับตะปูหรือสกรู ซึ่งจะมีประโยชน์มากเมื่อวัดงานพื้นผิวเรียบๆ และทำงานเองโดยไม่มีผู้ช่วยคอยจับหรือดึงแถบวัด แค่สอดตะปูหรือสกรูเข้าที่ด้านข้างของพื้นผิว จับหัวของสกรูหรือตะปูเข้ากับรูเล็กๆ นั้น แล้วดึงแถบวัดออกมาเพื่อทำการวัดอย่างรวดเร็วและแม่นยำ
⭗ ตลับเมตร ใช้สร้างวงกลมได้
ใช้ประโยชน์จากรูสำหรับเกี่ยวตะปูหรือสกรู โดยดึง ตลับเมตร ให้ได้ความยาวของรัศมีวงกลมที่ต้องการ กดล็อกให้ ตลับเมตร ไม่ยืดออกอีก เกี่ยวตะขอกับตะปูหรือสกรูที่ตอกไว้ตรงจุดศูนย์กลาง จากนั้นวางดินสอไว้ตรงระยะที่ต้องการข้างๆ แถบวัด แล้วจึงหมุน ตลับเมตร เป็นวงกลม ก็จะได้วงกลมตามที่ต้องการ
⭗ Zero Hook ของ ตลับเมตร ช่วยให้การวัดแม่นยำ
นิ้วแรกของ ตลับเมตร จะสั้นกว่านิ้วต่อๆ ไป เนื่องจากตะขอเกี่ยวของ ตลับเมตร จะหนา 1/16 นิ้วพอดี ดังนั้น สำหรับการวัดด้านในของวัตถุ เช่น วัดความยาวของผนังจากมุมหนึ่งไปอีกมุมหนึ่ง ตะขอจะชิดกับแถบวัด เพื่อชดเชย 1/16 นิ้ว ที่หายไป
ในทางตรงกันข้าม สำหรับการวัดจากขอบด้านนอก ตะขอจะเลื่อนออกมา 1/16 นิ้วเมื่อเกี่ยวเข้ากับวัตถุ ดังนั้น ต้องตรวจสอบให้แน่ใจเสมอว่าตะขอยึดกับวัตถุดีและเลื่อนออกได้เต็มที่ การวัดก็จะไม่คลาดเคลื่อน
⭗ ระมัดระวังแถบวัดของ ตลับเมตร อยู่เสมอ
ผู้ใช้ที่เชี่ยวชาญต้องไม่ประมาทความคมและอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากแถบวัดที่บางไม่ต่างจากมีด ควรจับแถบวัดไว้เล็กน้อยในลักษณะที่ปลอดภัย แล้วจึงค่อยปลดล็อกให้ตลับกรอกลับ เพื่อไม่ให้แรงถีบหรือดีดกลับทำให้เกิดการบาดเจ็บ จากนั้นปล่อยให้แถบวัดกลับเข้าตลับอย่างช้าๆ
นั่นคือความรู้ทั้งหมดที่นำมาฝากกันวันนี้ ชอบไม่ชอบหรือคิดเห็นยังไงก็พูดคุยแลกเปลี่ยนกับเราได้เลย! แล้วมาติดตามความรู้ดีๆ เกี่ยวกับงานช่างได้ในบทความต่อไป